Last updated: 29 ต.ค. 2563 |
นักกฎหมาย ทนายความ เกิดขึ้นหลังจากศาลพิจารณาตัดสินคดีแพ่งฯแล้ว...ถือว่าอยู่ในระดับมหาโหด หากเอาไปเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์สถาบันการเงินที่ต่ำเตี้ยติดดิน เกือบจะ 0 เปอร์เซ็นต์เข้าไปแล้ว
สันติ ปิยะทัต ทนายความ ประสบการณ์กว่า 30 ปี บอกว่า อัตราดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ กำหนดไว้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บอกว่า กรณีบุคคลไปทำละเมิดเขาหรือว่าผิดนัด
ซึ่งตรงนี้ถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ ก็จะให้คิดอยู่ที่ 7.5 เปอร์เซ็นต์
“หมายความว่า...มาตรฐานของกฎหมายของเราใช้ตัวตั้งอยู่ที่ 7.5 เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการไปทำละเมิดเขา หรือว่าผิดนัด หรือว่าไม่ได้กำหนดกันไว้เลย สมมติว่ามีนิติกรรมต่อกันก็อยู่ที่เท่านี้”
ปัญหามีว่า...สมัยก่อนถ้าเราไปเทียบกับ “ดอกเบี้ยเงินฝาก” คนมีเงินฝากก็ได้ดอกเบี้ยกิน เป็นข้าราชการ เกษียณแล้วก็เอาเงินไปฝากธนาคารก็ยังได้เงิน “รายได้”
ปัจจุบันธนาคารเองอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแทบจะเป็น 0 เปอร์เซ็นต์...บางแห่งก็ 50 สตางค์ 25 สตางค์ ตรงนี้...เปลี่ยนไปในทางลดลง แต่กฎหมายแพ่งไม่ได้ปรับปรุง ยัง 7.5 เหมือนเดิม
พูดกันตามหลักการโดยทั่วไป...ฉะนั้น ถ้าผิดนัด เราก็ยังโดนปรับ 7.5 เปอร์เซ็นต์
ถามว่า “แพง” ไปไหม? สันติ มองแยกออกเป็น 2 ส่วน...ส่วนหนึ่งกรณีของเงินฝาก 0 เปอร์เซ็นต์ ต้องมองในระบบของเงินฝาก ถ้าให้ 0 เปอร์เซ็นต์ “เงินกู้”...ที่คุณปล่อยให้เขากู้ก็ควรจะลดลงมาด้วย
สมมติว่าวันนี้มีคนไปกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือซื้ออะไรต่างๆ ก็ยังเสียดอกเบี้ยในอัตราที่แทบจะเหมือนเดิม 4%...5%...6% ก็แล้วแต่ประเภทเงินกู้
เท่ากับว่า “ธนาคาร”...ไม่มีต้นทุนเรื่องเงินฝาก แต่ยังมีต้นทุนค่าบริหารอยู่ เพราะฉะนั้นเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5 หากเรามาเทียบว่าประชาชนถ้ามีเหตุที่จะต้องเสียค่าปรับขึ้นมา ก็กลายเป็นว่า “ประชาชนไม่มีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก ถ้าเทียบกับรายจ่ายที่มาจากค่าปรับ...”
ควรน่าจะปรับลดสัดส่วนลงมาบ้าง ให้สมดุล สมเหตุสมผลกัน...เพื่อความเป็นธรรม
ขณะเดียวกัน ถ้าเรามาดูอีกข้อในแง่ความสัมพันธ์ของประชาชนกับธนาคาร เหมือนสมมติว่าเรามีเงินฝากธนาคารเราได้ดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเราผิดนัดธนาคารเราโดนดอกเบี้ยปรับ...ไม่ใช่ 7.5% นะครับ
“เราโดนดอกเบี้ยปรับมโหฬาร เท่าที่เข้าใจถ้าเป็นบัตรเครดิตยังจะเป็น 20 กว่าเปอร์เซ็นต์นั่นเชียว ซึ่งสังเกตไหมว่าเราเองถ้าเป็นภาพเก่า เราฝากเงินเรายังได้ดอกเบี้ยจาก 3%...4% ขณะที่ผิดนัดดอกอยู่ที่ 18%
แต่วันนี้ ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 0% แต่ดอกเบี้ยปรับผิดนัดก็ยังอยู่ที่ 18% เหมือนเดิม มันไม่ได้สัดส่วน ต้องลงมา...เงินกู้ก็เช่นเดียวกัน เราฝาก 0% แต่เรายังเสียดอกเงินกู้ สมมติว่าอยู่ที่ 4-5% อยู่อย่างนี้ ควรปรับลดลงด้วย”
สันติย้ำว่า ต้นทุนธนาคารลดลง...ควรที่จะต้องลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพราะเงินฝากไม่มี ส่วนในเรื่องอัตรา...“ค่าปรับเบี้ยผิดนัด” เนื่องจากเป็นข้อกฎหมายที่กำหนดเอาไว้ก็คงต้องฝากให้ผู้มีอำนาจ ผู้บริหารในคณะรัฐบาลปัจจุบัน น่าจะต้องพิจารณาทบทวน ปรับปรุง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ผู้บริโภค
ควรมีความจำเป็น...ต้องพิจารณาในจุดสำคัญนี้ด้วย
เบี้ยผิดนัด ร้อยละ 7.5 เป็นกฎหมายที่ไม่ทันสถานการณ์ เท่าที่จำความได้ สมัยสันติเรียนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ฯ ปี 2531...เกือบ 30 ปีมาแล้ว ปีนี้ 2559 ก็เนิ่นนานแล้วยังอยู่เหมือนเดิม
“คิดดูเอาเองว่าล้าสมัยหรือเปล่า...และก่อนหน้านี้ก็ยังอยู่ที่ 7.5 มาก่อน ฉะนั้นในเมื่อภาวะต่างๆเปลี่ยนไปตั้งเยอะ สมัยก่อนเงินฝาก เงินกู้ก็ไม่อยู่ในตัวเลขอย่างในวันนี้ แต่เบี้ยผิดนัดก็ยังเป็น 7.5
วันนี้...เงินฝากปรับตัวใกล้เป็น 0 เปอร์เซ็นต์แล้ว เผลอๆต่อไปไม่แน่ว่าประเทศไทยอาจจะมีสถานการณ์เหมือนในต่างประเทศหรือเปล่า คนเอาเงินไปฝากธนาคารต้องเสียค่าฝากด้วย จ้างธนาคารฝากเงิน...จะต้องเสียค่าฝากให้ธนาคาร ช่วยรักษาเงินของเราด้วย”
7.5 ดอกเบี้ยผิดนัด หรือ ดอกเบี้ยเงินกู้ที่แพง สันติฟันธงว่า ไม่ได้สัดส่วน น่าจะต้องมีการทบทวน พิจารณาตามสภาวะความเป็นจริง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภค คนไทยทั่วประเทศ
หมายถึงว่า “เบี้ยผิดนัด” กรณีเป็นคดีความที่ฟ้องร้องกันยาวๆ ถ้ายัง 7.5 อยู่ก็มีผลดีต่อผู้ชนะคดีที่ฟ้องร้องกันนานๆเป็นเรื่องของการเยียวยาค่าเสียเวลาที่ผ่านมา
ค้ำประกันซื้อรถยนต์ เจ้าของสัญญาหนีไม่จ่ายหนี้ แต่คนค้ำประกันโดนบังคับคดี โดนจ่ายเงินที่ค้างเบี้ยปรับ พร้อมพ่วงเบี้ยผิดนัดเข้ามาด้วย ก็กลับกลายเป็นเรื่องซวยซ้ำซวยซ้อน “ดอกเบี้ย”...ปรับเท่าทวีคูณ
ในมุมนี้มองได้ 2 ด้าน ก็คือ “ด้านผู้ได้” กับ “ด้านผู้เสีย”
แต่ตอนนี้การปรับปรุงในส่วนนี้ เรากำลังมองถึง “ต้นทุน” ก็คือ “รายได้” ของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน เรากำลังพูดว่า “ในเมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับสถาบันการเงินอยู่ที่ 0 เปอร์เซ็นต์ แล้วดอกเบี้ยในส่วนอื่นที่ผู้บริโภคคนเดียวกันต้องเสียให้กับสถาบันการเงิน ควรที่จะอยู่สัดส่วนกันแบบไหน”
สันติ ย้ำว่า เราต้องแยกเป็นสองส่วน กฎหมายระบุอัตราเบี้ยผิดนัดอยู่ที่ 7.5 เป็นอย่างน้อย ไม่ได้หมายว่าใช้อัตรา 7.5 ตลอดนะ... เป็นกรณีละเมิดหรือไม่ได้ตกลงกันเท่านั้น แต่ถ้าตกลงกันอาจจะ
มากกว่า
ระบุชัดในสัญญาไม่ใช่เท่านี้แน่นอน อาจจะพุ่งไปถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ...อย่างพวกบัตรเครดิตก็ดอกเบี้ยไกลไปถึง 18 เปอร์เซ็นต์
คำถามสำคัญมีว่า...ดอกเบี้ยผิดนัด 7.5 ควรที่จะปรับลดลงเหลือสักเท่าไหร่?
“ในขณะนี้มีการปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับที่ สนช. หรือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในเรื่องของหลักการที่พูดถึงผู้ค้ำประกัน ผู้จำนอง ซึ่งกฎหมายพยายามที่จะให้ความเป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนองที่ว่า...คนที่ไปค้ำประกันคือคนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการกู้ยืมเงินนั้นๆ เขาจึงไม่ควรที่จะรับภาระหนักเกินไป”
ควรรับภาระแต่เฉพาะที่เขาตั้งใจไปค้ำ ไม่ใช่รับภาระไม่จำกัดจำนวน...เหมือนกับเป็นตัวผู้กู้ ซึ่งตรงนี้ก็หมายรวมถึง...“ดอกเบี้ย” ที่จะตามมาด้วย
สันติอยากให้มองเป็น 2 มิติ...หนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับสถาบันการเงิน ว่าถ้าเหมือนเราๆท่านๆไปฝากเงินเราได้ดอกเบี้ย 0 บาท แต่ว่าสถาบันการเงินคิดเงินกู้ที่เราไปกู้เงินเขา ไปทำบัตรเครดิต ถ้าต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่ยังแพงเหมือนเดิม...ไม่ได้ลดลงเลย
“สัดส่วนตรงนี้น่าจะมีการพิจารณาปรับปรุงโดยผู้ที่เกี่ยวข้องให้ได้สัดส่วนลงไปอีกนิดนึง ในเมื่อให้ดอกเงินฝากเป็นศูนย์ ดอกเงินกู้ก็ควรจะลดลงมาหน่อย ถึงจะสมเหตุสมผล”
ส่วนอีกมิติหนึ่ง ดอกเบี้ยผิดนัด 7.5 เปอร์เซ็นต์...มีความเกี่ยวข้องกับ “บุคคลทั่วไป” กับ “สถาบันการเงิน” บางส่วนด้วย “ถามว่าใช้มานานหรือยัง...ต้องตอบว่านานมาแล้ว กฎหมายไม่ได้ผิด แก้ไขกันได้”
ยิ่งถ้ามองเกณฑ์เทียบกับรายได้ ว่าเราไปฝากธนาคารแล้วไม่มีรายได้เลย ดอกเบี้ยแทบจะเป็น 0 เปอร์เซ็นต์...ขณะที่เราไปทำผิดอะไรแล้วเราจะต้องโดนเบี้ยปรับในทำนองนี้ 7.5 เปอร์เซ็นต์…
ก็ควรจะลดลง เพื่อความเป็นธรรม เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน.
ที่มา : ไทยรัฐ
22 ต.ค. 2563