Last updated: 22 Oct 2020 |
“ขอความเป็นธรรม”...เรียนท่านกระทรวงยุติธรรม สวัสดีค่ะ ข้าพเจ้าชื่อนางสาวศิริพร นิ่มนวล หนูมาขอความช่วยเหลือ ขอความเป็นธรรมให้กับพี่ชายหนู ชื่อนายอดิศักดิ์ นิ่มนวล อายุ 36 ปี บ้านเกิดอยู่ที่ จ.กาญจนบุรี ผู้ตกเป็นจำเลยจากคดีร่วมกันบุกรุกและกระทำชำเราเด็กชาย อายุไม่เกิน 13 ปี
เมื่อปี 60 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เพราะเด็กไม่ได้สนใจคนร้ายห่วงแต่เล่นเกม จำหน้าคนร้ายไม่ได้ จำได้แค่เพียงลักษณะว่าตัวสูงกับหัวล้าน และที่จำได้ก็เพราะตำรวจเอารูปมาให้ดู เด็กไม่เคยเห็นหน้าไม่รู้จักพี่ชายหนูเลย หนูมีข้อสงสัยว่าทำไมถึงคิดว่าพี่ชายหนูเป็นคนร้าย และ...ในเมื่อได้เก็บหลักฐานไว้ แต่ทำไมถึงไม่ตรวจ DNA ไม่นำเลือดของพี่ชายหนูไปตรวจกับหลักฐานพวกนั้นว่าใช่หรือไม่ใช่พี่ชายหนู
เพราะวันที่เกิดเหตุก็ยังมีคนอื่นอยู่ด้วยไม่ได้มีเพียงแค่พี่ชายของหนูและอีกคน แต่เมื่อศาลตัดสินพวกหนูก็คิดว่าคดีมันจบแล้ว พวกหนูไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายเลยไม่รู้ขั้นตอนว่าจะต้องทำยังไง ทางทนายก็ไม่เคยมาคุยไม่เคยมาถามไม่เคยแจ้งอะไรเลย ทนายที่พวกหนูจ้าง มาจากนายจ้างเป็นคนจัดหามา
และดำเนินการรับเงินเป็นค่าจ้างทนายจากพี่ชายหนูไปให้ทนาย ก่อนที่จะไปขึ้นศาลชั้นต้นพวกเค้าเรียกเงินมาทั้งหมด 70,000 บาท แต่พี่ชายหนูยังไม่มีให้ จึงขอผ่อนจ่ายงวดแรก 10,000 บาท (เริ่ม) งวดที่ 2 20,000 บาท (ค่าเขียนแก้อุทธรณ์+ให้อัยการ) งวดที่ 3 ประมาณ 40,000 บาท
ต่อมาเมื่อปี 60 พวกหนูก็เพิ่งมารู้ว่าต้องไปขึ้นศาลอุทธรณ์อีก แต่ก็จ้างทนายไปแล้ว คิดว่าทนายรู้กฎหมายคงไปดำเนินการได้ คงไม่มีปัญหาอะไรเพราะทางทนายก็ไม่เคยแจ้งหรือปรึกษาให้รู้เลย
เมื่อไปขึ้นศาล ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต หนูสงสัยว่าทนายรับเงินแล้วว่าจะทำโน่นนี่นั่นแต่โดนตัดสินมาแบบนี้คือทนายไม่ได้
ดำเนินการตามที่แจ้งกับนายจ้างมาให้พวกหนูทราบรึอย่างไร...พวกหนูไม่สามารถคุยกับทนายได้เลยเพราะนายจ้างไม่ให้คุยตรงกับทนายจะต้องผ่านนายจ้างทุกครั้ง
ทำไมทนายไม่ดำเนินการตรวจ DNA ให้พี่ชายหนูทั้งๆ ที่เค้าเป็นตัวแทน เป็นบุคคลที่สามารถจะช่วยพี่ชายหนูได้...แล้วเค้ารับเงินพี่ชายหนูไปแล้วทำได้แค่นี้เหรอ พอศาลตัดสินมาพวกหนูก็ไม่ไว้ใจทนายคนเดิมแล้ว พวกหนูเลยหาจ้างทนายใหม่เป็นทนายที่ จ.กาญจนบุรี โดยอาศัยติดต่อผ่านทางญาติ เค้าเรียกเงินมา 70,000 บาท
แต่พี่หนูมีแค่ 60,000 บาท เลยตกลงกันว่าถ้าคดีจบจะให้อีก 10,000 บาท แล้วพูดให้ความเชื่อมั่นทุกอย่างว่าไม่ติด ช่วยได้ๆ พวกหนูก็เชื่อใจเพราะเห็นว่าเป็นญาติ
เมื่อมาขึ้นศาลฎีกา ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตอีก สรุปคือ...พวกเค้ารับเงินไป หลอกลวงเงินพี่ชายหนูไปอีก และตอนนี้พี่ชายหนูติดคุกอยู่มันเกิดขึ้นได้ยังไง ในเมื่อพวกหนูก็จ้างทนายให้ทำหน้าที่แทนพี่ชายหนูแล้ว หนูมากราบขอความยุติธรรม ขอความเป็นธรรม ให้ท่านช่วยเหลือคนบริสุทธิ์ด้วยค่ะ
พี่ชายหนูบริสุทธิ์ พี่ชายหนูเป็นคนดี ช่วยเหลือพวกหนูด้วยนะคะ ขอแสดงความนับถือและกราบขอให้ท่านพิจารณาช่วยคดีพี่ชายหนูหน่อยค่ะ ขอบพระคุณเป็นอย่างสูง
นางสาวศิริพร นิ่มนวล โพสต์เวลา 00.10 น. วันที่ 7 ตุลาคม 2562 สำหรับเรื่องราวข้างต้นนี้ขออนุญาตคัดลอกทั้งหมดมาจากเว็บบอร์ด “รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์” เว็บไซต์กระทรวงยุติธรรม www.moj.go.th
มุมมอง “กฎหมายไม่พลิก คดีไม่ดังเส้นเล็ก” สันติ ปิยะทัต ทนายความ ประสบการณ์กว่า 30 ปี กล่าวไว้ว่า อาชีพทนายความ
บางสถานการณ์ก็ไม่รู้ว่าจะยืนอยู่ข้างคนถูกหรือคนผิด...
“จริงๆแล้วคนที่เดินมาหาเราจริงๆ ถ้าพูดกันตรงๆว่าผิดหรือถูก เราตัดสินยังไม่ได้”
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในทางกฎหมายนี้ บทบัญญัติของกฎหมายซึ่งทั่วโลกเป็นสากลเขาก็เห็นปัญหานี้มานะ เขาก็เลยบอกว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีศาลพิพากษาว่าเขาเป็นผู้กระทำผิด...“กฎหมาย” เขียนรองรับไว้ในรัฐธรรมนูญเลย กฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนชัดเจนว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษา และการปฏิบัติต่อเขาก่อนที่ศาลจะพิพากษา...
ต้องปฏิบัติเสมือนเขายังไม่ใช่เป็นผู้กระทำผิด นั่นหมายความว่ายังไง ถึงแม้เขาถูกกล่าวหา ถูกตำรวจจับ ถูกอะไร ต้องปฏิบัติเสมือนเขายังไม่ได้ทำผิดนะ นี่คือหลักการ
“ผิด”...ที่ไม่ได้ก่อ เป็นเรื่องที่สำคัญในการรักษากฎหมาย
เวลาสังคมหรือผู้คนรับทราบว่าคนนี้เป็นคนทำความผิด เดินถือมีด ถือปืนมาสารภาพ ถามว่าจะแน่ใจได้อย่างไรว่าไม่ได้จับแพะ คำว่าจับ “แพะ” หมายความว่าไปจับคนที่ไม่ได้กระทำผิด คืออาจจะขี้เกียจหาคนทำผิด หรือจับพลาดไปจับเอาคนนี้อะไรทำนองนี้
แต่ถ้าเป็น “แพะ” ก็แสดงว่าหาคนผิดมาเองเลย มาให้จับ...ซึ่งการไปจับแพะกับแพะมาให้จับคนละอย่างกันนะ
จับแพะมาเข้าสู่กระบวนการ...บอกเดี๋ยวผมทำเอง โอ้ว...พี่ก็สบายใจเพราะมีหมดเลยทุกอย่าง ถามอะไรหลักฐานก็ครบถ้วนตอบกับสังคมได้เลย พิพากษาพิจารณาตัดสินจำคุก ตัวบทกฎหมายก็เลยมีระบบป้องกันว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้น คือผู้ร่างกฎหมายเขาก็ฉลาด และไม่ได้ฉลาดเฉพาะแต่ประเทศไทย ทั่วโลกเขาคิดตรงกันว่า...
“สิทธิประชาชน” ขั้นพื้นฐาน จะต้องได้รับการปฏิบัติ ต้องเท่าเทียมกันทุกๆคน
เหตุการณ์อย่างนี้ไม่เกิดกับตัวไม่รู้หรอก หรือบางทีก็คิดไม่ออกถ้าเกิดขึ้นกับตัวเองจริงๆ “ทนายความ” จึงจำเป็นและจำเป็นมากๆด้วย เราอาจจะเจอมาตรการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ดีก็มีเยอะ แต่พวกที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ใช้วิธีแบบว่าต้องได้ตามที่ต้องการขึ้นมา แบบนี้ก็แย่นะ “เอ็งนั่นแหละฆ่า”...?
ซ้อมก่อน ฆ่าไม่ฆ่าเดี๋ยวจนมันเจ็บเมื่อไหร่บอกว่ากูฆ่าเองแล้วกันอะไรแบบนี้ หรือไม่ก็...เนี่ยได้ตัวแล้ว ผู้ฆ่าสารภาพแล้วจบ แบบนี้สมัยก่อนในอดีตที่ผ่านมามีหมด ดีดไข่ ตีไข่ แต่หมายถึงว่ามีกิจกรรมอะไรแปลก ไฟฟ้าช็อตอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นทนายที่เข้ามา แม้ว่าเกิดเหตุตรงนี้เกิดขึ้นแบบถูกจับคาหนังคาเขา...
เข้ามาสารภาพก็ต้องมีการสืบสาวเท้าความเพื่อให้ความจริงปรากฏขึ้นมา
ใครคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ความยุติธรรม” กับ “ความมั่นคงของประเทศชาติ” จะต้องคู่กัน...ทิ้งกันไม่ได้ แล้วก็ต้องเสริมกันด้วย ยุติธรรมทำให้มั่นคง...มั่นคงทำให้เกิดความยุติธรรม ไปด้วยกันแยกกันไม่ได้ คนที่มีความยุติธรรมก็คือคนที่ต้องมีความมั่นคงอยู่ในตัว มิฉะนั้น “ความยุติธรรม” ก็จะเป็น “อยุติธรรม”
“กฎหมายเป็นเรื่องของเหตุและผล วิชาที่เป็นตรรกะมากที่สุดก็คือวิชาเรขาคณิต...สิ่งที่จะต้องพิสูจน์ก็คือข้อเท็จจริง ทุกเรื่องจะพลิกไม่ได้ สิ่งที่ผิดก็เพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น”
ท้ายที่สุดแล้ว “กฎหมาย” ต้องเป็น “กฎหมาย”...กฎหมายจะพลิกพลิ้วไม่ได้ ไม่อย่างนั้นประเทศชาติก็จะอยู่ไม่ได้.
ที่มา : ไทยรัฐ
22 Oct 2020